ข่าวออนไลน์

"พระอุบาลี" จากสยาม สู่ลังกาทวีป

          ขอย้อนไปตามรอย พระอุบาลีมหาเถระ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระอุบาลีมหาเถระนั้นเดิมพำนักอยู่ที่วัดธรรมาราม เป็นวัดเล็กๆ อยู่ระหว่างวัดท่าการ้อง กับวัดกษัตราธิราช ปัจจุบันคือตำบลบ้านป้อม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้เป็นพระธรรมทูตในสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยท่านเป็นผู้นำคณะสงฆ์ชุดเดียวที่เดินทางไปศรีลังกาที่ประสงค์ให้พระอุบาลีเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำการอุปสมบทแก่สามเณรชาวสิงหล เพื่อสืบทอดพุทธศาสนาในศรีลังกาต่อไป


   

          ขณะนั้นคณะสงฆ์ในศรีลังกาเกือบสิ้นสมณวงศ์ เหลือแต่สามเณรเพียงรูปเดียว นามว่า สรณังกร แต่ด้วยเหตุพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ กษัตริย์ศรีลังกามีความศรัทธาแรงกล้าที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่ศรีลังกาอีกครั้ง จึงส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา ในปีพ.ศ.2294พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โปรดให้คัดเลือกพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกและเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ประกอบด้วย พระสงฆ์ 24 รูป นำโดยพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระ พร้อมทั้งสามเณรอีก 7 รูป ออกเดินทางด้วยเรือกำปั่นหลวงที่เพิ่งต่อขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นพาหนะส่งคณะสงฆ์ไทยไปลังกา


         เมื่อคณะไปถึงศรีลังกา คณะได้จำวัดอยู่ที่วัดบุปผาราม ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าวัดมัลวัตตะ และเป็นวัดของสังฆนายก คณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ คณะมัลวัตตะ อยู่ตรงกันข้ามกับวัดพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งมีทะเลสาบกั้นกลาง อยู่ในเมืองศิริวัฒนนคร (ปัจจุบันคือเมืองกัณฎี) คณะได้ให้บรรพชาอุปสมบทแก่ชาวศรีลังกาอยู่ 3 ปี พ.ศ.2295-2298 มีพระภิกษุ 700 รูป สามเณร 3,000 รูป

         พระอุบาลีเถระได้เป็นพระอุปัชฌาย์ทำการอุปสมบทสามเณรสรณังกรเป็นพระสรณังกร (ต่อมาคือพระสังฆราชรูปแรกแห่งสยามวงศ์) และกุลบุตรชาวสิงหลเป็นพระภิกษุจำนวนมาก จนสามารถสืบทอดพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน โดยพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ เป็นองค์ศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนาตลอดมา

          พระอุบาลีมหาเถระ ได้ริเริ่มให้มีการจัดเทศกาล แห่พระเขี้ยวแก้ว (เอสาละ เปราเหรา) ในเมืองกัณฎีขึ้น จนเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงและถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนาของศรีลังกาที่รู้จักกันทั่วไป ครั้งนั้นพุทธศาสนาจากสยามโดยการอุปสมบทของพระอุบาลีเถระนั้นมีความมั่นคงจนเป็นนิกายสำคัญขึ้นในศรีลังกา คือ พุทธศาสนา “สยามวงศ์” หรือ “สยามนิกาย” ซึ่งเป็นหนึ่งในนิกายสำคัญ 3 นิกาย ของพุทธศาสนาในศรีลังกา
          ในสมัยเดียวกันนั้น มีสามเณรอีกคณะหนึ่งเดินทางไปขอรับการอุปสมบทในประเทศพม่า แล้วกลับมาตั้งเป็นนิกาย "อมรปุรนิกาย" และอีกคณะเดินทางไปขออุปสมบทจากคณะสงฆ์เมืองมอญ กลับมาตั้งนิกาย "รามัญนิกาย" จึงทำให้ศรีลังกามีนิกายพุทธศาสนา 3 นิกาย มาจนถึงปัจจุบันนี้
          1. สยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์ เป็นนิกายหลัก มีจำนวนวัดเกินกึ่งหนึ่งของวัดทั้งประเทศ แต่จำกัดให้เฉพาะผู้อยู่ในวรรณะสูงเท่านั้นที่จะบวช                 เป็นพระในนิกายนี้ได้
          2. อมรปุรนิกาย (พม่า)
          3. รามัญนิกาย (มอญ)

          แต่ด้วยเหตุที่ท่าน มรณภาพที่ศรีลังกา จึงทำให้ไม่มีข้อมูลอันใดในกรุงศรีอยุธยาเลย กล่าวคือพระอุบาลีมรณภาพด้วยโรคหูอักเสบ ภายในกุฏิวัดบุปผาราม (มัลวัตตวิหาร) เมื่อปีพ.ศ.2299 ครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินศรีลังกาให้จัดพิธีถวายเพลิงศพอย่างสมเกียรติ โดยจัดที่สุสานหลวงนามว่าอาดาหะนะมะลุวะ ปัจจุบันก็คือวัดอัศคิริยะเคดิเควิหาร ในเมืองกัณฎี สถานที่นี้ได้ก่ออิฐล้อมสถานที่เผาศพพระเถระสำคัญไว้ หลังเสร็จสิ้นพิธีถวายเพลิงศพแล้ว ทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์บนยอดเขาใกล้วัดอัสคีริยะบรรจุอัฐิเพื่อสักการบูชาขึ้น
  

          สำหรับวัดบุปผารามนั้น ยังมีกุฏิพระอุบาลีมหาเถระที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเพียงห้องเล็กๆ ที่มีเตียงเก่าๆ และโต๊ะเก้าอี้เท่านั้น ส่วนบริขารและสิ่งของที่ท่านเคยใช้สอยที่เหลืออยู่นั้น ชาวศรีลังกานับถือเป็นสิ่งเคารพ จึงเก็บรักษาไว้จนทุกวันนี้ ด้วยความกล้าหาญของพระอุบาลีเถระที่นำคณะสงฆ์เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปศรีลังกาครั้งนั้น นับว่าเป็นพระธรรมทูตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งสยามและเป็นพระเถระผู้สถาปนาพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์อย่างมั่นคงในศรีลังกา ตราบจนถึงปัจจุบัน 

..........................................................................................


ที่มา โพสจัง